เดิมเรียกว่า “มาบเจ็ก” ซึ่งบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านจะมีความลาดเอียงมีล่องลึกเก็บกักน้ำได้พอใช้ได้ 15 คน/วัน ต่อมาตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ไชยมงคล” โดยผู้ใหญ่สืบ คัมภิรานนท์ ได้ไปขอคำปรึกษากับหลวงพ่อทองใบ เจ้าอาวาสวัดป่าจิตรสามัคคีสามแยกปัก ซึ่งหมายถึง “เจริญ สุข สวัสดี” เพราะบริเวณนี้ มีความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้ สัตว์ พืช มีถนนทางเกวียนผ่านหมู่บ้าน จึงเป็นชื่อของหมู่บ้านและตำบลในปัจจุบันบ้านไชยมงคล มีอายุระหว่าง 55 – 65 ปี มีผู้ใหญ่บ้านกองพระทราย ตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ชื่อ นายสืบ คัมภิรานนท์ และนางทองศรี ภรรยา ได้รับเหมา “ตัดฟืนหลา” จากนายเอี้ยะกี่อยู่หน้าวัดแจ้งใน ที่ได้รับอนุญาตการทำสัมปทานจากกรมป่าไม้แล้วนั้นดำเนินการทำฟืนเพื่อส่งให้การรถไฟจังหวัดนครราชสีมา จึงได้รวบรวมลูกหลาน ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านใกล้เคียงมา 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1 กลุ่มบ้านกองพระทราย 2. กลุ่มหนองจะบก 3. กลุ่มวัดใหม่อัมพวัน และคนงานอีกนับร้อยคน ระยะแรกๆ ได้รับการส่งเสบียงจากผู้ได้สัมปทานป่าไม้ ต่อมานางทองศรีเป็นผู้นำฟืนมาส่งและนำข้าวสารเครื่องใช้ต่างๆ บรรทุกกลับมาพร้อมกับเกวียนสำหรับสิ่งของเครื่องใช้อุปโภค บริโภค ที่ผลิตเองไม่ได้ จึงมีการค้าขายเกิดขึ้น ต่อมาเริ่มหาที่เหมาะสมเพื่อปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ทำนา ทำสวนครัวเพื่อรับประทานในครัวเรือน
|
|
บ้านกองพระทรายก่อสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณริมทางเกวียนทั้งหมด เพราะสะดวกในการเดินทางเข้าเมือง กลุ่มหนองจะบกและวัดอัมพวันแยกจากลุ่มแรกระยะห่าง 1,200 เมตร เพราะบริเวณนี้มีทางน้ำไหลผ่าน น้ำจะกัดเซาะดินเป็นล่องลึกยาว บริเวณริมทางน้ำ มีต้นตะคร้อขึ้นเรียงราย 2 กลุ่ม นี้เรียกว่า “กลุ่มโกรกตะคร้อ” มีครอบครัวของนายเขียด เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นครอบครัวแรกเพื่อเลี้ยงวัว
|
|
บ้านไชยมงคล เมื่อ 60 ปี ที่ผ่านมามีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยต้นไม้หนาแน่นและหลากหลายชนิด เช่น ไม้พลวง มะค่า ประดู่ งิ้วป่า เต็ง รัง ฉำฉา ฯลฯ ซึ่งมีความร่มเย็นใบของพันธุ์ไม้ปกคลุมเรียงกันจนมองไม่เห็นแสงพระอาทิตย์ส่องลงถึงพื้นดิน บริเวณที่ตั้งบ้านเรือนส่วนใหญ่เลือกตรงที่โล่งไม่มีต้นไม้ปกคลุม มีเพียงไม้เป็นพุ่มๆ เป็นเถาชื่อต้นเล็บเหยี่ยว และต้นตะคลองมีหนามเหลมคม ดินมีลักษณะแข็งเรียกว่าดินดาน สัตว์ที่พบเป็นประจำ คือ กระต่าย นกกระทา นกคุ่ม นกเขาใหญ่ ไก่ป่า แย้ กิ้งก่า หมาจิ้งจอก สัตว์บางชนิดถูกล่ามาเพื่อประกอบอาหาร พืชผักที่มีอยู่ในป่าของหมู่บ้านที่เก็บมาเป็นอาหาร ได้แก่ ผักหวาน แต้ว จิก กระทกรก ต้นกระบุก ลูกสามสิบ
|
|
ตำบลไชยมงคล เป็นตำบลหนึ่งใน 24 ตำบลของอำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งใช้ชื่อตำบลจากบ้านไชยมงคล หมู่ที่ 1 โดยได้มีการแยกจากตำบลหนองจะบกและตำบลโพธิ์กลาง และได้รับการประกาศจากกระทรวงมหาดไทยแยกเขตการปกครองเป็นตำบลไชยมงคล เมื่อปี 2526 ปัจจุบันแบ่งการปกครองออกเป็น 6 หมู่บ้าน และได้รับยกฐานะจากสภาตำบลไชยมงคลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ไชยมงคล ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2539
|
|
|
|